Power Supply เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จ่ายไฟให้กับชิ้นส่วนต่างๆภายในคอมพิวเตอร์ โดยมีหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้าจาก กระแสสลับ(AC)ขนาด 220 V เป็นกระแสตรง(DC) 3V, 5V หรือ 12V ตามแต่ความต้องการของแต่ละอุปกรณ์ เช่น CPU, การ์ดจอ, พัดลมระบายอากาศภายในเครื่อง Power Supply Unit ในคอมพิวเตอร์จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามเคส คือแบบ AT และแบบ ATX

ประเภทของ Power Supply

ประเภทของ Power Supply แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ

  • AT ปัจจุบันไม่ได้เป็นที่นิยมใช้งานกันแล้ว โดยจะมีปุ่มเปิด – ปิด การทำงานเป็นการต่อตรงกับแหล่งจ่ายไฟ ทำให้เกิดปัญหากับอุปกรณ์บางตัว เช่น ฮาร์ดดิส หรือ CPU ที่ต้องอาศัยไฟในชั่วขณะหนึ่ง ก่อนที่จะเปิดเครื่อง
  • ATX เป็นแหล่งจ่ายไฟที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยมีการพัฒนาจาก AT โดยเปลี่ยนปุ่มปิด – เปิด ต่อตรงกับส่วนเมนบอร์ดก่อน เพื่อให้ยังคงมีกระแสไฟหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ก่อนที่จะปิดเครื่อง ทำให้ลดอัตราเสียของอุปกรณ์ลง โดยมีมาตรฐานต่างๆ ดังนี้
    • ATX 2.01 แบบ PS/2 ใช้กับคอมพิวเตอร์ทั่วๆไปที่ใช้ตัวถังแบบ ATX สามารถใช้ได้กับเมนบอร์ดแบบ ATX และ Micro ATX
    • ATX 2.03 แบบ PS/2 ใช้กับคอมพิวเตอร์แบบ Server หรือ Workstation ที่ใช้ตัวถังแบบ ATX (สังเกตว่าจะมีสายไฟเพิ่มอีกหนึ่งเส้น ที่เรียกว่า AUX connector)
    • ATX 2.01 แบบ PS/3 ใช้กับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตัวถังแบบ Micro ATX และเมนบอร์ดแบบ Micro ATX เท่านั้น

Power Supply ที่ขายทั่วไปในปัจจุบันยังสามารถแบ่งประเภทย่อยลงไปได้อีกตามประเภทจากที่สามารถสามารถถอด-ต่อสายเคเบิ้ลเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่โดยจะสามารถแบ่งประเภทดังนี้

Full-Modular PSU

Full-Modular : เป็น Power Supply ที่สามารถถอด-ต่อสายเคเบิ้ลได้ทุกเส้นส่วนใหญ่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ใช้งานที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากง่ายต่อการจัดเก็บสายเพิ่มความสวยงามภายในเคสคอมพิวเตอร์และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนเนื่องจากไม่ต้องมีสายที่ไม่ได้ใช้งานมาบังเส้นทางการหมุนเวียนของอากาศภายในเครื่อง ข้อเสียของเจ้า Power Supply แบบ Full-Modular ก็จะมีแค่เรื่องราคาที่สูงอยู่พอสมควร

Semi-Modular PSU

Semi-Modular : เป็น Power Supply ทีสามารถถอด-ต่อสายเคเบิ้ลได้บางส่วน  และจะมีสายไฟหลักติดมากับ Power Supply แต่จะมีช่องไว้ให้เสียบเพิ่มเติมกรณีที่ต้องการต่อไฟเข้ากับอุปกรณ์ภายในเครื่องอื่น ๆ เช่น การ์ดจอ ฮาร์ดดิส DVD-Drive แต่ก็ยังสามารถจัดเก็บสายไฟได้ดีในระดับนึง (จะเก็บสายไฟหลักลำบากหน่อยเนื่องจากขนาดของสายไฟใหญ่กว่าและยังมีราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับ Power Supply แบบ Full-Modular อีกด้วย

Non-Modular PSU

Non-Modular : เป็น Power Supply ที่มีสายต่ออุปกรณ์ทั้งหลายนั้นออกมาจากตัวของ Power Supply โดยตรงเราไม่สามารถทำการถอดเปลี่ยนได้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว Power Supply ประเภทนี้จะมีราคาที่ถูกที่สุดเลยก็ว่าได้แต่มีข้อเสียตรงที่ว่า ถ้าเราต้องการอัพเกรดหรือเพิ่มเติมอุปกรณ์คอมเข้าไปอาจจะทำให้มีสายไม่พอต่อการใช้งานเป็นต้น และสายจะค่อนข้างรบกวนการหมุนเวียนของอากาศภายในเครื่องในระดับนึง จึงไม่เหมาะกับคอมพิวเตอร์ที่สเปคมหาโหดและมีความร้อนสูงซักเท่าไหร่ ปัจจุบันผู้ผลิตเคสนิยมออกแบบเคสแบบเปิดโชว์ด้านในเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็จะทำให้สายไฟของ PSU บังอุปกรณ์ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่พอสมควร

มาตรฐาน 80 Plus คืออะไร

เป็นมาตรฐานที่ใช้เรียกประสิทธิภาพในการทำงานของ Power Supply ซึ่งมีประสิทธิภาพในการแปลงกระแสไฟ AC เป็น DC มีประสิทธิภาพเกินกว่า 80% จาก 100% โดยจะสามารถคำนวณหาค่าประสิทธิภาพได้จากสมการ  efficiency = Output/Input  ดังนั้นจึงหมายความได้ว่า PSU ที่มี 80+ นั่นหมายถึงมีการรักษาประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานนั้นมีค่าไม่ต่ำกว่า 80 %  ซึ่งมีช่วงในการทำงานที่เรียกว่า โหลด อยู่ทั้งหมด 3 ช่วง คือ 20% , 50 % และ 100 % ถ้าหากยิ่งมีการสูญเสียพลังงานน้อยและประสิทธิภาพในการทำงานใกล้เคียงกับ 100 % ก็หมายความว่า เราสูญเสียพลังงานที่ใช้ในการแปลงกระแสน้อย พูดง่ายๆ ก็คือจะใช้ไฟฟ้าในการใช้งานน้อยลงนั่นเอง ซึ่งทำให้สามารถประหยัดค่าไฟได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันได้มีการแบ่งมาตรฐานออกเป็น 6 ระดับ ซึ่งแต่ระดับจะมีความหมายดังนี้

ระดับขาว (WHITE) คือ Power Supply ที่มีการทำงานของโหลดในช่วง 20%, 50% และ 100% ได้ประสิทธิภาพที่ประมาณ 80% และจะทดสอบกับ Power Supply ที่ใช้ไฟ AC ในช่วง  110V เท่านั้น

ระดับทองแดง (BRONZE) คือ Power Supply ที่มีการทำงานของโหลดในช่วง 20% มีประสิทธิภาพมากกว่า 81 % , ในช่วง 50% มีประสิทธิภาพมากกว่า 85% และช่วง 100 % มีประสิทธิภาพมากกว่า 81% สำหรับ Power Supply ที่ใช้กระแสไฟ AC 220 V เพื่อการันตีมาตรฐาน

ระดับเงิน ( Silver ) คือ Power Supply ที่มีการทำงานของโหลดในช่วง 20% มีประสิทธิภาพมากกว่า 85% , ในช่วง 50% มีประสิทธิภาพมากกว่า 89 % และช่วง 100% มี ประสิทธิภาพมากกว่า 85% สำหรับ Power Supply ที่ใช้กระแสไฟ AC 220 V เพื่อการันตีมาตรฐาน

ระดับทอง (Gold) คือ  Power Supply ที่มีการทำงานของโหลดในช่วง 20% มีประสิทธิภาพมากกว่า 88% , ในช่วง 50% มีประสิทธิภาพมากกว่า 92 % และในช่วง 100% มี ประสิทธิภาพมากกว่า 88% สำหรับ Power Supply ที่ใช้กระแสไฟ AC 220 V เพื่อการันตีมาตรฐาน

ระดับแพตตินั่ม (Platinum) คือ  Power Supply ที่มีการทำงานของโหลดในช่วง 20% มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% , ในช่วง 50% มีประสิทธิภาพมากกว่า 94 % และในช่วง 100% มีประสิทธิภาพมากกว่า 91% สำหรับ Power Supply ที่ใช้กระแสไฟ AC 220 V เพื่อการันตีมาตรฐาน

ระดับไทเทเนี่ยม (Titanium) คือ  Power Supply ที่มีการทำงานของโหลดในช่วง 20% มีประสิทธิภาพมากกว่า 94% , ในช่วง 50% มีประสิทธิภาพมากกว่า 96% และในช่วง 100% มีประสิทธิภาพมากกว่า 91% สำหรับ Power Supply ที่ใช้กระแสไฟ AC 220 V เพื่อการันตีมาตรฐาน

ต้องซื้อแบบไหนหล่ะ ?

สังเกตุไหมว่า เวลาไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แบบประกอบตามร้าน ทำไม Power Supply ต้องมาอุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายที่ทางร้านจะเลือกเสมอ เนื่องจากว่า Power Supply จะต้องมีกำลังในการจ่ายไฟให้อุปกรณ์ทุกอย่างภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราได้ทุกชิ้นส่วน แต่ผู้ซื้อมือใหม่จะทราบได้อย่างไรว่าอุปกรณ์ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้กำลังไฟเท่าไหร่บ้าง ซึ่งหากเราซื้อประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์กับทางร้านค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทางร้านจะแนะนำขนาดของ Power Supply ให้ แต่ผู้ซื้อมือใหม่สามารถคำนวณว่าอุปกรณ์ที่เราจะซื้อใช้กำลังไฟประมาณเท่าไหร่บ้าง โดยสามารถคำนวณได้ที่เว็บไซต์ https://outervision.com/power-supply-calculator ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้คำนวณว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราซื้อประกอบใหม่นั้น แต่ละอุปกรณณ์ใช้กำลังไฟเท่าไหร่บ้าง

เมื่อทราบแล้วว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะซื้อประกอบใหม่นั้น ใช้กำลังไฟเลี้ยงอุปกรณ์ทั้งหมดประมาณเท่าไหร่แล้ว เราก็เลือกซื้อ Power Supply ที่มีกำลังในการจ่ายไฟที่มากกว่าจากที่เราได้คำนวณออกมานั่นเอง

เรื่องเข้าใจผิดของ Power Supply

เคยได้ยินตำนานเรื่องเล่าของ Power Supply กันมาบ้างหรือเปล่า เช่น “หากเราซื้อ Power Supply 1000W แบบมาตรฐาน 80+ จะจ่ายไฟจริงได้แค่ 800W” หรือว่า “เครื่องซื้อมาใช้ทำงานทั่วไปเข้าเว็บ พิมพ์งาน Power Supply 500W ธรรมดาก็พอแล้ว ถ้าเล่นเกมต้องซื้อ 1500W เกมจะได้ลื่น” ทางทีมงานสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ในความเป็นจริงนั้นการเลือกซื้อ Power Supply ผู้ซื้อแค่เลือกตัว Power Supply ให้มีกำลังจ่ายไฟที่มากกว่าการบริโภคพลังงานของอุปกรณ์ทั้งหมดภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์บริโภคไฟในขณะใช้งานประสิทธิภาพ 100% ประมาณ 250W เราสามารถซื้อ Power Supply ที่มีกำลังไฟขนาด 300W หรือ 400W ก็สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว แต่หากจะซื้อ Power Supply ขนาด 1000W ก็ได้เช่นกัน หากมีงบประมาณเพียงพอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราซื้อ Power Supply ขนาด 1000W มาแล้วจะต้องจ่ายค่าไฟมากกว่าเดิมเพราะว่า Power Supply แปลงกระแสไฟแล้วจ่ายไฟออกมา 1000W ในความเป็นจริงนั้น Power Supply จะจ่ายไฟแค่ให้เพียงพอกับความต้องการของเครื่องคอมพิวเตอร์ในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ว่าจะซื้อ Power Supply ขนาดไหนมาก็ตาม

แล้ว 80 PLUS มีไว้ทำอะไร

มาตรฐาน 80+ นั้น สรุปง่าย ๆ เลยว่า เป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน ซึ่งสามารถดูได้จากหัวข้อมาตรฐาน 80+ ด้านบน โดยปกติแล้วการแปลงกระแสไฟ จะมีอัตราการสูญเสียพลังงานและจะถูกเปลี่ยนออกมาเป็นความร้อน ดังนั้นหากต้องการที่จะแปลงกระแสไฟให้ได้กำลัง Watt ตามที่ต้องการก็ต้องใช้กระแสไฟขาเข้าที่มากขึ้นกว่าเดิม จะได้เป็นสมการคือ efficiency = Output/Input

โดยมาตรฐาน 80+ นี้เป็นมาตรฐานที่จะบ่งบอกว่า Power Supply รุ่นไหน มีประสิทธิภาพในการทำงานในการแปลงกระแสไฟมากกว่า 80% และมีการสูญเสียพลังงานไม่เกิน 20% และจะถูกแบ่งระดับมาตรฐานออกไปอีกตามความประสิทธิภาพในการแปลงกระแสไฟ ซึ่งหากสังเกตุจะพบว่าในช่วงโหลด 50% จะเป็นช่วงที่มีอัตราการสูญเสียพลังงานน้อยที่สุด จึงทำให้เป็นช่วงที่ประหยัดไฟได้มากที่สุด เนื่องจากใช้กระแสไฟ AC ขาเข้าในการแปลงกระแสไฟเป็น DC ที่น้อยกว่าช่วงโหลดอื่น ๆ

สรุปได้ว่าการเลือกซื้อ Power Supply ที่ผ่านมาตรฐาน 80+ ให้เลือกซื้อ Power Supply ที่ให้กำลังในการจ่ายไฟเพียงพอกับความต้องการในการบริโภคไฟของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว แต่ถ้ามีงบประมาณก็ควรจะซื้อ Power Supply ที่ให้กำลังในจ่ายไฟให้มากกว่า 2 เท่าของความต้องการในการบริโภคของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ใช้กำลังไฟ 250W ก็เลือกซื้อ Power Supply ที่มีขนาด 450W – 500W ก็จะทำให้ลดค่าไฟที่บ้าน แต่ผู้ที่เช่าหอพักหรือห้องเช่าที่ผู้ให้เช่าเก็บค่าไฟแพงกว่าปกติ เช่น 7 – 8 บาทต่อ 1 หน่วย ก็อาจจะเห็นผลในเรื่องของค่าไฟมากกว่ากว่า ซึ่งอาจจะจ่ายค่าอุปกรณ์แพงในตอนต้น แต่จะเห็นผลในระยะยาวและช่วยยืดอายุการทำงานของ Power Supply ได้อีกด้วย บางตัวอาจจะใช้งานได้ปกติเป็น 10 ปีเลย ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักหรือตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อว่าคุ้มค่าหรือเปล่า

https://www.kodefix.com