Digital Asset คืออะไร

สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงมูลค่าเหมือนสินทรัพย์ทั่วไป ซึ่งจับต้องไม่ได้ด้วยมือเปล่า ถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ แต่สามารถซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของได้ ใจความสำคัญคือการแลกเปลี่ยน ‘ไม่ต้องผ่านตัวกลาง’ (ถ้าเป็นเงินสด การเก็บ ฝาก ถอน ต่างๆ จะต้องมีตัวกลางธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นคนลงบันทึกการทำธุรกรรม แต่พอเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำงานอยู่บนโลกออนไลน์และระบบบล็อกเชน การทำธุรกรรมต่างๆ ก็จะถูกบันทึกโดยคอมพิวเตอร์นั่นเอง) และการไม่ผ่านตัวกลาง

  

แบ่งประเภทเป็นอะไรบ้าง

ประเทศไทยได้มีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ขึ้นเพื่อกำกับดูแลการออกเสนอขาย และการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลได้เป็น 2 ประเภท ผ่านการพิจารณาตามลักษณะของการใช้งานและสิทธิที่กำหนดไว้สำหรับผู้ถือ

 

1) คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)

เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอกนิกส์ ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน (means of payment) เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน คริปโทเคอร์เรนซีที่เรารู้จักกันดี เช่น บิทคอยน์ อีเธอเรียม เป็นต้น และต่อมาก็มีพัฒนาการในการนำคริปโทเคอร์เรนซีที่นำมูลค่าไปตรึง (peg) ไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินต่าง ๆ สมมติว่ากำหนดให้ 1 เหรียญดิจิทัล เท่ากับ 1 บาท ซึ่งเราจะเรียกคริปโทเคอร์เรนซีลักษณะนี้ว่า stable coin 

แม้ว่าจะมีการยอมรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซีกันในบางร้านค้าหรือในกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่คริปโทเคอร์เรนซีก็ไม่ใช่เงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) ซึ่งจะแตกต่างจาก สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่ออกมาเพื่อใช้เช่นเดียวกับเงินตรา (legal tender) ของประเทศนั้น ๆ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

 

2) โทเคนดิจิทัล (Digital Token)

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน สามารถออกเสนอขายได้ผ่านกระบวนการ initial coin offering (ICO) คล้ายกับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก หรือ initial public offering (IPO) แก่ผู้ลงทุนหุ้นสามัญ ในตลาดหุ้นนั่นแหละ

 

2.1) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)

เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ โดยโทเคนดิจิทัล ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จะแตกต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีตรงที่คริปโทเคอร์เรนซีไม่มีการให้สิทธิแก่ผู้ถือ เป็นแต่เพียงสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น ส่วนโทเคนดิจิทัลจะ “ให้สิทธิ” แก่ผู้ถือ โดย investment token มีวัตุประสงค์เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือในการลงทุน เช่น สิทธิจากส่วนแบ่งรายได้ หรือผลกำไรจากการลงทุนในโครงการ และผู้ลงทุนก็คาดหวังกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น ดังนั้น investment token จึงมีลักษณะคล้ายกับหลักทรัพย์ ในต่างประเทศส่วนใหญ่จึงกำกับดูแล investment token ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์

 

2.2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token)

เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เช่น ให้สิทธิในการเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือโครงการ หรือ นำไปใช้แลกสินค้าในแพลตฟอร์มหรือโครงการดังกล่าว โดยหากสินค้าหรือบริการนั้นพร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก (utility token พร้อมใช้) จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องได้รับอนุญาตให้ออกเสนอขายจาก ก.ล.ต. แต่หากสินค้าหรือบริการนั้นยังไม่พร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ (utility token ไม่พร้อมใช้) โดยต้องนำเงินที่ได้จากการขาย utility token ไปพัฒนาแพลตฟอร์มหรือโครงการให้แล้วเสร็จ ดังนั้น การออกเสนอขาย utility token ไม่พร้อมใช้ ก็จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับ investment token คือจะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

  

โอกาส และความเสี่ยง

แม้ว่า Digital Asset จะมีโอกาสมหาศาลให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุน ทว่าก็มาพร้อมกับความเสี่ยงด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ข้อมูลว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ยอดเปิดบัญชีเทรดคริปโตฯ เติบโตกว่า 5 เท่า (ปี พ.ศ.2564 ทะลุ 1,600,000 บัญชี หากเทียบกับการเปิดบัญชีหุ้น ตลอดระยะเวลา 20–30 ปี ยังมีจำนวนบัญชีแค่ 1,800,000 บัญชีเท่านั้น ถือว่าเติบโตไวมาก) ซึ่ง ก.ล.ต. ระบุว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีใครทราบราคาที่แท้จริงของคริปโตฯ เพราะซื้อ-ขายกันตามราคาที่พึงพอใจของตลาด ไม่มีเพดานราคา จึงผันผวนสูง

ขณะที่ความเสี่ยงของภาพรวมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ควรศึกษาก่อนการลงทุน ก็มีตั้งแต่ประเด็นของพื้นฐานบริษัทที่ออก ICO โทเคน ซึ่งมักเป็นโครงการใหม่ที่มีแค่ไอเดีย ใช้เทคโนโลยีใหม่มากๆ จึงเสี่ยงสูงที่โครงการจะไม่สำเร็จ มีความเสี่ยงที่สินทรัพย์ดิจิทัลอาจมีการสูญหรือด้อยมูลค่าลง เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีการรับรองมูลค่าโดยสถาบันการเงินใดๆ หรือถูกหลอกโดยมิจฉาชีพ ที่นำเอาโทเคนไม่มีมูลค่า หรือไม่น่าเชื่อถือมาหลอกเป็นผลิตภัณฑ์ให้ลงทุน ตลอดจนความเสี่ยงจะถูกขโมยทรัพย์สินทางไซเบอร์

 

ที่มา thematter.co

      efinancethai.com

www.kodefix.com